ร่วมเสนอความคิดเห็น

หัวข้อกระทู้ : เทพบันดาล หรือธรรมบันดาล ?

(D)
เทพบันดาล ธรรมบันดาล

คนไทยกับวัตถุมงคล (คำว่า “วัตถุมงคล” ในบทความนี้จะหมายรวมถึงพระเครื่องทุกชนิด (เหรียญ ฯลฯ) พระบูชา รูปเคารพ รวมทั้งเครื่องรางของขลังอื่นๆ เช่น ปลัดขิก ตะกรุด ฯลฯ) ด้วย) นับว่าเป็นของคู่กันมาช้านานตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว สังเกตได้จากเมื่อเกิดศึกสงคราม คนไทยหรือทหารไทยก็ได้อาศัยวัตถุมงคลเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวหรือสร้างขวัญกำลังใจในการต่อสู้กับข้าศึก จนสามารถกู้ชาติบ้านเมืองสำเร็จก็หลายครั้ง และกระแสการนับถือวัตถุมงคลเหล่านั้นก็ยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายจนถึงปัจจุบัน แต่อาจจะมากน้อยกว่ากันตามยุคสมัยและความนิยมในวัตถุมงคลนั้นๆ
ณ เวลานี้ วัตถุมงคลที่ได้ชื่อว่ามีกระแสการตอบรับมากที่สุด และแพร่หลายกว้างขวางอย่างที่ไม่เคยปรากฏในวัตถุมงคลใดๆ มาก่อน เห็นจะไม่มีวัตถุมงคลใดเกิน “จตุคามรามเทพ” เพราะในช่วงเวลาสั้น ๆ มีการจัดสร้างกันมากมายหลายรุ่น คาดว่าขณะนี้มีไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ รุ่น ทั่วประเทศ และที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราชเองก็มีคิวการปลุกเสกยาวเหยียดไปจนถึงต้นปีหน้าเลยทีเดียว ความจริง วัตถุมงคลจตุคามรามเทพ มีการจัดสร้างขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ๒๕๓๐ แต่ตอนนั้นยังไม่แพร่หลายหรือเป็นที่รู้จัก-สนใจเท่าที่ควร เรียกว่า “แจกฟรียังโกรธ” เพิ่งมาบูมเมื่อประมาณ ๒-๓ ปี มานี้เอง (จนทำให้ขณะนี้ ทราบว่ารุ่นแรกมีราคาเหยียบล้านแล้ว) และมีการจัดสร้างอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ จนกลายเป็นธุรกิจ “เทวามาร์เก็ตติ้ง” ที่ทำเงินอย่างมหาศาล มีเงินสะพัดเป็นหมื่นๆ ล้านบาท (จนกรมสรรพากรจ้องเก็บภาษี) แผงพระเครื่อง(เก่า) แทบทุกแผงต้องเปลี่ยนวางจตุคามรามเทพแทนเกือบทั้งหมด มีแพงพระจตุคามรามเทพใหม่ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด ไม่เว้นแม้แต่ในเว็บไซต์ต่าง ๆ (เช่น www.jatukarm.com) คน “ปล่อย” พระ ก็หันมาใช้อินเทอร์เน็ตช่วย “ขาย” ด้วย และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก็เกิดขึ้นตามมาอย่างเป็นวงจร (รับทรัพย์กันทั่วหน้า) เช่น การรับปัดทอง กิจการตลับพระ ร้านเลี่ยมพระ ร้านทอง โรงรับจำนำ หนังสือพระ หนังสือพิมพ์ ธุรกิจการท่องเที่ยว (โดยเฉพาะที่ จ.นครศรีธรรมราช) เสื้อ โรงพิมพ์โปสเตอร์ ฯลฯ
มีข้อสังเกตอย่างหนึ่งว่า การสร้างจตุคามรามเทพแต่ละรุ่นนั้น ส่วนใหญ่มักตั้งชื่อไปในทางที่เป็นมงคล ช่วยดลบันดาลให้มีโชคมีลาภ มีเงินทองร่ำรวยเป็นเศรษฐีมหาเศรษฐี เช่น รุ่นโคตรเศรษฐี โคตรรวย รวยทั้งโคตร รวยรวยรวย อภิมหาเฮง คลังเศรษฐี ดวงเศรษฐี เศรษฐีทวีทรัพย์ เจ้าสัว เจริญโภคทรัพย์ ทรัพย์หมื่นล้าน เงินไหลกองทองไหลมา รวยนิรันดร์ มั่งมีเงินทอง ฯลฯ
ผู้เขียนไม่ได้คัดค้านหรือปฏิเสธการนับถือจตุคามรามเทพ รวมทั้งวัตถุมงคลอื่นๆ เพราะเป็นเรื่องของศรัทธา แต่ขอให้มีขอบเขต ไม่ทำให้ตนเดือดร้อน (เช่น เสียเงินค่าเช่าแพงๆ ทำให้ตนและครอบครัวต้องเดือดร้อน โดยเฉพาะช่วงกลางเดือน หรือช่วงโรงเรียนเปิดเทอม ต้องระมัดระวัง) ให้นึกถึงความจำเป็นด้วย ไม่คลั่งไคล้เกินไปจนไม่เป็นอันทำมาหากิน หรือต้องเอาชีวิตไปแลก (เพราะถูกเหยียบตาย !) และที่สำคัญที่สุด ก็คือต้องมีปัญญากำกับด้วย เพราะหากมีแต่ศรัทธา ไม่มีปัญญากำกับแล้วก็มีแต่งมงายเท่านั้นเอง บางกลุ่มนับถือตามคนอื่นเขา ห้อยคอเท่ห์ ๆ เพียงเพื่ออวดคนอื่น จนบางทีคนอื่นพลอยหมั่นไส้ก็มี ห้อยทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าสิ่งที่ห้อยอยู่นั้นเป็นใคร มีประวัติเป็นมาอย่างไร เห็นคนอื่นบูชาก็บูชาไปตามเขา เรียกว่าเป็น “แฟชั่น” แบบนี้ก็มีไม่น้อย
อย่างไรก็ตาม มีคนจำนวนไม่น้อยที่นับถือจตุคามรามเทพ และวัตถุมงคลอื่นๆ เพื่อหวังให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้น (นอกเหนือจากเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจ) ช่วยดลบันดาลให้ได้ในสิ่งที่ตนปรารถนา หรือ หวังพลังศักดิ์สิทธิ์ที่เกิดขึ้นจากสิ่งเหล่านั้น เช่น ให้มีโชคลาภร่ำรวยเป็นเศรษฐีมีเงินเป็นล้าน ให้มีแต่คนรักคนชอบเป็นเมตตามหานิยม (เข้าทำนอง “ชายเห็นชายรัก หญิงเห็นหญิงหลง”) มีความคงกระพันชาตรียิงไม่ออกฟันแทงไม่เข้า (คล้ายๆ ต้องการเป็นอมตะ) แคล้วคลาดปลอดภัยจากอุบัติเภทภัยทั้งปวง ให้มีความสำเร็จเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานการศึกษา ฯลฯ
จริงอยู่ สิ่งศักดิ์สิทธิ์มีอยู่จริง และ “พุทธคุณ” ที่ปรากฏออกมาจากสิ่งเหล่านั้นก็ (อาจ) มีอยู่จริง ด้วยอาศัยการที่ผู้บูชาประสบด้วยตนเองบ้าง (ซึ่งเชื่อว่าเกิดจากสิ่งเหล่านั้นดลบันดาลให้) หรือจากการฟังเสียงร่ำลือจากคนอื่นบ้าง เพราะหากไม่มีอยู่จริง ทหารไทยในอดีตก็คงไม่ได้ชื่อว่าเป็น “ทหารผี” เพราะถูกยิงไม่เป็นไร เพียงแค่กระเด็นล้มลงไปตามแรงกระสุน แล้วก็ลุกขึ้นมาต่อสู้ใหม่ได้ เพราะมี “ของขลัง” อยู่กับตัว
แต่ศาสนาพุทธเราเป็นศาสนาแห่งเหตุผล เป็นศาสนาแห่งการกระทำ ไม่ใช่ศาสนาแห่งการอ้อนวอน ถ้ามัวแต่หวังให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลให้ ที่เรียกว่ารอ “เทพบันดาล” แต่ตัวเราไม่ทำเหตุที่จะให้ได้ผลอย่างนั้นเลย ก็คงไม่สำเร็จผล ดังนั้น เพื่อให้บทความนี้รวบรัด (เนื่องจากหน้ากระดาษจำกัด) ขอเสนอว่า ถ้าอยากจะให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลให้ในสิ่งที่ปรารถนา เราก็ต้องลงมือกระทำด้วย เป็นการสร้างเหตุปัจจัยให้เกิดขึ้น โดยใช้หลักธรรมช่วย ที่เรียกว่า “ธรรมบันดาล” กล่าวคือ
๑. อยากมีโชคลาภร่ำรวยเป็นเศรษฐีมีเงินเป็นล้าน ขึ้นอยู่กับบุญกุศลที่เคยทำมาแต่ชาติปางก่อนด้วย จึงจะส่งผลให้ชาตินี้มีโชคลาภมีทรัพย์สินเงินทอง และในชาตินี้ ก็ต้องอาศัยหลักทิฏฐิธัมมิกัตถประโยชน์ ที่เรียกว่า “หัวใจเศรษฐี” มีอักษรย่อว่า อุ อา กะ สะ
๑.๑ อุ ย่อมาจาก อุฏฐานสัมปทา ได้แก่ ขยันหมั่นเพียรในการแสวงหาทรัพย์ ไม่เกียจคร้าน หนักเอาเบาสู้
๑.๒ อา ย่อมาจาก อารักขสัมปทา ได้แก่ รู้จักรักษาทรัพย์ที่แสวงหามาได้ด้วยความขยันหมั่นเพียร ไม่ให้มีอันตรายสูญหายไปกับอบายมุขเป็นต้น
๑.๓ กะ ย่อมาจาก กัลยาณมิตตตา ได้แก่ คบเพื่อนที่ดี ไม่คบเพื่อนที่ชักชวนไปในทางฉิบหาย เช่น ชวนดื่มน้ำเมา ชวนเล่นการพนันเป็นต้น
๑.๔ สะ ย่อมาจาก สมชีวิตา แปลว่า การเลี้ยงชีวิตตามสมควรแก่กำลังทรัพย์ที่หามาได้ รู้จักกำหนดรายรับและรายจ่าย อย่าให้สุรุ่ยสุร่ายฟุ่มเฟือยหรืออัตคัดขัดสนจนเกินไปให้รู้จักออมเงินเงินไว้ ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง
ธรรมข้อนี้ นับว่ามีความสำคัญในการสร้างเนื้อสร้างตัว เพราะแม้จะแขวนจตุคามรามเทพ รุ่นโคตรเศรษฐี แขวนอยู่อย่างนั้นเป็นเดือนๆ เป็นปีๆ แต่ถ้าเกียจคร้านทำงาน ไม่รู้จักรักษาที่หามาได้ไว้ให้ดี ฯลฯ ก็ฟันธงได้เลยว่าไม่มีวันร่ำรวยเป็นเศรษฐีขึ้นมาได้เลย
๒. อยากมีแต่คนรักคนชอบเป็นเมตตามหานิยม (เข้าทำนอง “ชายเห็นชายรัก หญิงเห็นหญิงหลง”) ต้องยึดหลักสังคหวัตถุ หมายถึงหลักธรรมที่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจของผู้อื่น ผูกไมตรี เอื้อเฟื้อ เกื้อกูล หรือเป็นหลักการสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน มีอยู่ ๔ ประการ
๒.๑ ทาน ได้แก่ รู้จักเสียสละ เอื้อเฟื้อแบ่งปันของๆ ตนเพื่อประโยชน์แก่บุคคลอื่น ไม่ตระหนี่ถี่เหนียว ไม่เห็นแก่ได้ฝ่ายเดียว
๒.๒ ปิยวาจา ได้แก่ พูดจาไพเราะอ่อนหวาน พูดด้วยความจริงใจ ไม่พูดหยาบคายก้าวร้าว พูดในสิ่งที่เป็นประโยชน์เหมาะสำหรับกาลเทศะ ไม่พูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ พูดส่อเสียด
๒.๓ อัตถจริยา ได้แก่ ทำแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน
๒.๔ สมานัตตตา ได้แก่ มีความประพฤติเสมอต้นเสมอปลาย วางตัวสม่ำเสมอ
ธรรมข้อนี้ ช่วยให้ยึดเหนี่ยวน้ำใจกันไว้ได้ ช่วยให้คนนิยมชมชอบรักใคร่ ตรงกันข้ามถ้าเป็นคนเห็นแก่ตัว หรือพูดจาหยาบคายเป็นต้น ฯลฯ แม้จะแขวนพระขุนแผนเต็มคอ ใช้สีผึ้งมหาเมตตา หรือลงสาริกาคู่ เป็นต้นยังไง ก็คงช่วยอะไรไม่ได้ (มีแต่คนเกลียดแน่)
๓. อยากมีความคงกระพันชาตรียิงไม่ออกฟันแทงไม่เข้า (คล้ายๆ ต้องการเป็นอมตะ) แคล้วคลาดปลอดภัย คนจะมีอายุยืนหรืออายุสั้น ความจริงมีกล่าวไว้ในจูฬกัมมวิภังคสูตร กล่าวคือคนที่ชอบฆ่าสัตว์ตัดชีวิต (ในชาติปางก่อน) เกิดมาเป็นมนุษย์ในชาตินี้จึงเป็นคนอายุสั้น เช่น ตายในระหว่างอายุยังน้อยบ้าง หรือถูกเขาฆ่าตายบ้าง ส่วนคนที่ไม่ฆ่าสัตว์ แต่มีเมตตาต่อสัตว์ เกิดมาในชาตินี้ก็เป็นคนอายุยืน
ความจริงแล้ว มนุษย์เราไม่ว่าจะเกิดในชาติไหน ๆ ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียนกันและกัน ยึดหลัก “อหึงสา” หรือ “เมตตา” ต่อสรรพสัตว์ทุกถ้วนหน้า ไม่เข่นฆ่าเบียดเบียนทำร้ายกัน หรือยึดมั่นในศีล ๕ (เว้นจากการฆ่าสัตว์) ก็เชื่อว่าจะช่วยให้มนุษย์มีอายุยืนยาว และไม่ต้องคอยหวาดระแวงว่าจะมีใครมาเข่นฆ่าทั้งสิ้น ข้อนี้นับว่าสำคัญไม่น้อย เพราะถ้ามนุษย์ไม่มีธรรมกำกับอยู่ในใจแล้ว ก็มีแต่จะเข่นฆ่ากันไม่เว้นแต่ละวัน หรือถ้าประพฤติการชั่ว พระก็คงไม่คงคุ้มครองแน่ สักวันต้องพบจุดจบ และเมื่อนั้น แม้จะแขวนพระที่พุทธคุณโดดเด่นในด้านคงกระพันชาตรีเต็มคอก็ต้องตายสิ้น ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นมานักต่อนักแล้ว
อนึ่ง คนเราหากถึงคราวตาย ก็คงหนีไม่พ้น เข้าทำนองว่า “หากไม่ถึงคราวตายวายชีวาตม์ ใครพิฆาตเข่นฆ่าไม่อาสัญ หากถึงคราวตายวายชีวัน ไม้จิ้มฟันแทงเหงือก ยังเสือ…กตาย" เพราะฉะนั้น จะไปกลัวอะไรกับความตาย เกิดมาแล้วก็ต้องตายด้วยกันทั้งสิ้น ไม่ช้าก็เร็ว ไม่มีใครเป็นอมตะ ถ้าเคยฆ่าคนอื่นไว้ ก็ต้องยอมรับกรรม เป็นการชดใช้กันไป
๔. อยากเดินทางไปไหนมาไหนแคล้วคลาดปลอดภัย ไม่มีอันตรายใดๆ (ดูข้อ ๓. ประกอบด้วย) ในการเดินทางไปไหนมาไหน ไม่ว่าทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศ มักเกิดอุบัติ และมีข่าวปรากฏตามสื่ออยู่บ่อย ๆ อย่างช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ก็มีคนเสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก ธรรมที่ช่วยส่งเสริมหรือป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ ก็คือหลัก “อัปปมาทธรรม” ได้แก่การไม่ประมาท เช่น ตรวจสอบยานพาหนะนั้นๆ ให้ดีว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์หรือไม่ ไม่ดื่มหรือเสพของมึนเมาในขณะขับขี่ (ยึดศีล ๕ ข้อ สุราเมรัย) ขับขี่ตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด สวมหมวกหรือรัดเข็มขัดให้เรียบร้อย ไม่ขับเร็วเกินไป ฯลฯ มีสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ ถ้าทุกคนทำได้เช่นนี้ก็เชื่อว่าปลอดภัยไม่มีอุบัติเหตุแน่นอน ตรงกันข้าม คือประมาท โอกาสถึงป่าช้าก็มีมาก แม้จะแขวนหรือบรรทุกพระเครื่องไว้ในรถเป็นหมื่นๆ องค์ ท่านก็คงช่วยไม่ได้
๕. อยากมีความสำเร็จในการศึกษา เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เลื่อนยศเลื่อนตำแหน่งเลื่อนขั้นเงินเดือน ธรรมที่ช่วยส่งเสริมได้ดีหมวดหนึ่ง ก็คือหลักอิทธิบาท ๔
๕.๑ ฉันทะ ได้แก่ พอใจในการศึกษาเล่าเรียน ในงานนั้น
๕.๒ วิริยะ ได้แก่ ขยันศึกษาเล่าเรียน ขยันทำงานโดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย หนักเอาเบาสู้
๕.๓ จิตตะ ได้แก่ เอาใจใส่ฝักใฝ่ในการศึกษาเล่าเรียนในการทำงาน ไม่ทอดทิ้งเสียกลางคัน
๕.๔ วิมังสา ได้แก่ หมั่นพิจารณาตรวจสอบจุดอ่อนของตนเอง ในการเรียนการทำงาน
ธรรมข้อนี้ ช่วยให้ประสบความสำเร็จในการศึกษาเล่าเรียน ในการทำงาน อย่างแน่นอน ไม่ต้องไปพึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ตรงกันข้ามหากไม่ยึดหลักธรรมนี้แล้ว แม้จะแขวนจตุคามรามเทพ หรือพระพิฆเนศเป็นสิบๆ องค์ ก็คงต้องล้มเหลวแน่นอน
เอาละครับ เขียนมาพอสมควรแล้ว ขอสรุปว่า จะนับถือเทพเจ้า หรือนับถือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ในโลกนี้ ก็นับถือไปเถอะครับ ตามความเชื่อความนิยมชมชอบของแต่ละคน การบูชาสิ่งที่ควรบูชาย่อมเป็นมงคลด้วยกันทั้งสิ้น ดังคำว่า ปูชา จะ ปูชะนียานัง เอตัมมังคะละมุตะตะมัง ที่สำคัญต้องมีปัญญากำกับด้วย ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นการงมงาย และที่สำคัญที่สุด ที่ได้นำเสนอในบทความนี้ ก็คือเมื่อหวังให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ดลบันดาลในสิ่งที่ปรารถนาแล้ว ก็ต้องลงมือกระทำเองด้วย โดยยึดหลักธรรมที่ได้นำเสนอไปแล้ว จึงจะได้ผลเต็มรอยเปอร์เซ็นต์ ไม่เช่นนั้นแล้ว ความศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ของวัตถุมงคลหรือพระเครื่องใดๆ ก็คงไม่เกิดขึ้น และสิ่งที่เราแขวนหรือบูชาอยู่นั้น ก็คงไม่ต่างอะไรกับเศษดิน หิน ทราย ไม้ โลหะ ฯลฯ ดีๆ นี่เอง

------------------------------

ขาจรประจำ

โดยคุณ ขาจรประจำ (603)(1)   [อ. 01 พ.ค. 2550 - 19:45 น.]



โดยคุณ ขาจรประจำ (603)(1)   [อ. 01 พ.ค. 2550 - 21:46 น.] #95307 (1/1)
มาแนวธรรมะครับ เผื่อจะช่วยเตือนสติคนกำลังหลงทางอยู่ได้บ้าง ไม่มากก็น้อยครับบ

ขอบคุณอย่างสูง

!!!! กรุณา Login ก่อนจึงจะเสนอความคิดเห็นได้ !!!


Copyright ©G-PRA.COM